เมนู

12 โลหิจจสูตร


[351] ข้าพเจ้า ได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อม
ด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ ประมาณ 500 รูป ประทับอยู่บ้านสาลวติกา ก็สมัยนั้น
โลหิจจพราหมณ์ ครอบครองบ้าน สาลวติกา ซึ่งมีประชาชนคับคั่ง มีหญ้า
ไม้ และน้ำ สมบูรณ์ อุดมไปด้วยธัญญาหาร ซึ่งเป็นราชทรัพย์ ที่พระเจ้า-
ปเสนทิโกศล พระราชทาน เป็นบำเหน็จเด็ดขาด.
[352] ก็สมัยนั้น ความเห็นอันลามก เห็นปานนี้เกิดขึ้น แก่
โลหิจจพราหมณ์ ว่า สมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดีในโลกนี้ ควรบรรลุกุศลธรรม
ครั้นบรรลุกุศลธรรมแล้ว ไม่ควรบอกผู้อื่น เพราะผู้อื่นจักทำอะไรให้แก่
ผู้อื่นได้ บุคคลตัดเครื่องจองจำเก่าได้แล้ว พึงสร้างเครื่องจองจำอื่นใหม่
ฉันใด ข้ออุปมัยก็ฉันนั้น เรากล่าวธรรมคือความโลภว่า เป็นธรรมลามก
เพราะผู้อื่นจักทำอะไรแก่ผู้อื่นได้ ดังนี้.
โลหิจจพราหมณ์ ได้ยินมาว่า พระสมณโคดมศากยบุตร ทรงผนวช
จากศากยตระกูล เสด็จจาริกไปไนแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่
ประมาณ 500 รูป เสร็จถึงบ้านสาลวติกาแล้ว ก็กิตติศัพท์อันงามของ
พระโคดมผู้เจริญนั้น ได้แพร่หลายไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี-
พระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ถึงพร้อมด้วยวิชชา
และจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกคนที่ควรฝึก ไม่มี
ผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็น

ผู้จำแนกพระธรรม พระองค์ทรงกระทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก
พรหมโลก ให้แจ่มแจ้ง ด้วยพระปัญญาอันยิ่งด้วยพระองค์เอง ทรงสอนหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดามนุษย์ให้รู้ตาม พระองค์ทรงแสดงธรรมงาม
ในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อม
ทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การเห็นพระอรหันต์
เช่นนั้น เป็นการดีนักแล.
[353] ครั้งนั้นโลหิจจพราหมณ์ ได้เรียกช่างกัลบกชื่อ โรสิกะ
มาบอกว่า มานี่ เพื่อนโรสิกะ ท่านจงไปเฝ้าพระสมณโคดมถึงที่ประทับ
แล้วกราบทูลถามพระสมณโคดม ถึงอาพาธน้อย พระโรคเบาบาง ความ
คล่องแคล่ว กำลัง ความอยู่ผาสุก ตามคำของเราว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
โลหิจจพราหมณ์ถามพระองค์ถึงอาพาธน้อย พระโรคเบาบาง ความคล่อง-
แคล่ว กำลัง ความอยู่ผาสุก และจงกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอพระโคดมผู้เจริญ
พร้อมด้วยหมู่ภิกษุ โปรดรับนิมนต์เสวยภัตตาหารของโลหิจจพราหมณ์ใน
วันพรุ่งนี้ โรสิกะช่างกัลบกรับคำโลหิจจพราหมณ์แล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระ-
ผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควร
ส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลหิจจพราหมณ์
ถามพระองค์ถึงอาพาธน้อย พระโรคเบาบาง ความคล่องแคล่ว กำลัง ความ
อยู่ผาสุก และให้กราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยหมู่ภิกษุ
โปรดรับนิมนต์เสวยภัตตาหารของโลหิจจพราหมณ์ในวันพรุ่งนี้ พระผู้มีพระ-
ภาคเจ้าทรงรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ.
[354] โรสิกะช่างกัลบกทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์
แล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกระทำประทักษิณ

เสร็จแล้วเข้าไปหาโลหิจจพราหมณ์ถึงที่อยู่ บอกว่า ข้าพเจ้าได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคเจ้าตามคำของท่านแล้ว. และพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงรับ
นิมนต์แล้ว. ครั้งนั้นแลโลหิจจพราหมณ์ ตระเตรียมของเคี้ยวของฉัน อัน
ประณีตไว้ในนิเวศน์ของตนโดยล่วงไปแห่งราตรีนั้นได้เรียกโรสิกะมาสั่งว่า
มานี่เพื่อนโรสิกะ จงไปหาพระสมณโคดม แล้วจงทูลพระสมณโคดมว่า ถึง
เวลาแล้ว ภัตตาหารสำเร็จแล้ว. โรสิกะ รับคำโลหิจจพราหมณ์แล้ว ได้เข้า
ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วยืนที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง กราบ-
ทูลว่า ถึงเวลาแล้วพระเจ้าข้า ภัตตาหารสำเร็จแล้ว.
[355] ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอันตรวาสก แล้วทรง
ถือบาตรจีวรเข้าไปยังบ้านสาลวติกา พร้อมด้วยหมู่ภิกษุ เวลานั้น โรสิกะ
ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าไปข้างหลัง กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลหิจจพราหมณ์เกิดความเห็นชั่วอย่างนี้ว่า สมณะ
หรือพราหมณ์ในโลกนี้ พึงบรรลุกุศลธรรม ครั้งบรรลุแล้ว ไม่ควรบอก
ผู้อื่น เพราะผู้อื่นจักทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้ บุคคลตัดเครื่องจองจำเก่า
ได้แล้ว พึงทำเครื่องจองจำอย่างอื่นใหม่ ฉันใด ข้ออุปไมยนี้ก็ฉันนั้น
เรากล่าวธรรมคือความโลภว่า เป็นธรรมลามก ผู้อื่นจักทำอะไรให้แก่
ผู้อื่นได้ ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดทรง
ปลดเปลื้องโลหิจจพราหมณ์เสียจากความเห็นชั่วนี้เถิด พระผู้มีพระภาคเจ้า
ตรัสว่า ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร โรสิกะ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปยัง
นิเวศน์ของโลหิจจพราหมณ์แล้ว ประทับเหนืออาสนะที่ปูลาดไว้. ลำดับนั้น
โลหิจจพราหมณ์ได้อังคาสหมู่ภิกษุ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ด้วยของ
เคี้ยวของฉันอันประณีตด้วยมือของตนให้อิ่มหนำให้เพียงพอแล้ว.

[356] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยเสร็จแล้ว ทรงนำพระ-
หัตถ์ออกจากบาตร โลหิจจพราหมณ์ถืออาสนะที่ต่ำอันหนึ่งนั่งที่สมควรข้าง
หนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะโลหิจจพราหมณ์ว่า ดูก่อนโลหิจจะ เขา
ว่าจริงหรือ ท่านเกิดความเห็นลามกอย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์ในโลกนี้
บรรลุธรรมที่เป็นกุศลแล้วไม่บอกผู้อื่น เพราะผู้อื่นทำอะไรแก่ผู้อื่นได้ เปรียบ
เหมือนบุคคลตัดเครื่องจำจองเก่าได้แล้ว พึงทำเครื่องจำจองใหม่ อย่างอื่น
ฉันใด ข้ออุปไมยนี้ก็ฉันนั้น เรากล่าวว่าเป็นธรรมลามก เพราะผู้อื่นจักทำ
อะไรแก่ผู้อื่นได้ดังนี้.
โลหิจจพราหมณ์กราบทูลว่าพระโคดมผู้เจริญ เป็นความจริงอย่างนั้น.
ดูก่อนโลหิจจะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านครอบครอง
บ้านสาลวติกามิใช่หรือ อย่างนั้นสิท่านโคดม. ตรัสถามว่า ผู้ใดหนอจะพึง
กล่าวอย่างนี้ว่า โลหิจจพราหมณ์ครอบครองบ้านสาลวติกาอยู่ โลหิจจพราหมณ์
ควรใช้สอยผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในบ้านสาลวติกานั้น แต่ผู้เดียว ไม่ควรให้
ผู้อื่น ดังนี้ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้นั้นจะชื่อว่าทำอันตราย หรือไม่ทำอันตรายแก่
ชนที่อาศัยท่านเลี้ยงชีพอยู่. ชื่อว่าอันตรายสิท่านโคดม. เมื่อทำอันตรายจะชื่อ
ว่า หวังประโยชน์ หรือไม่หวังประโยชน์แก่ชนเหล่านั้น. ชื่อว่าไม่หวังประ-
โยชน์สิท่านโคดม. ผู้ไม่หวังประโยชน์จะชื่อว่าเข้าไปตั้งจิตเมตตาในชนเหล่า
นั้น หรือเป็นศัตรู. เป็นศัตรูสิท่านโคดม. เมื่อตั้งจิตเป็นศัตรูจะชื่อว่าเป็น
มิจฉาทิฏฐิหรือสัมมาทิฏฐิ เป็นมิจฉาทิฏฐิสิท่านโคดม. ดูก่อนโลหิจจะ ผู้เป็น
มิจฉาทิฏฐิ เรากล่าวว่า มีคติเป็น 2 คือ นรก หรือกำเนิดเดียรัจฉานอย่างใด
อย่างหนึ่ง.
[357] ดูก่อนโลหิจจะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระเจ้า
ปเสนทิโกศล
ทรงปกครองแคว้นกาสี และโกศลมิใช่หรือ. อย่างนั้นสิ ท่าน

โคดม. ดูก่อนโลหิจจะ ผู้ใดหนอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล< /B>
ทรงปกครองแคว้นกาสี และโกศลอยู่ พระองค์ควรทรงใช้สอยผลประโยชน์
ที่เกิดขึ้นในแคว้นกาสีและโกศลแต่พระองค์เดียว ไม่ควรพระราชทานแก่ผู้อื่น
ผู้ที่กล่าวอย่างนี้นั้น ชื่อว่าทำอันตรายหรือไม่ทำอันตรายแก่พวกท่านและคนอื่น
ซึ่งได้พึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระเจ้าปเสนทิโกศลเลี้ยงชีพอยู่.
ชื่อว่าทำอันตราย ท่านโคดม. เมื่อทำอันตรายชื่อว่าเป็นผู้หวังประโยชน์
หรือไม่หวังประโยชน์แก่ชนเหล่านั้น.
ชื่อว่าไม่หวังประโยชน์ ท่านโคดม. ผู้ที่ไม่หวังประโยชน์ จะชื่อว่า
เข้าไปตั้งเมตตาจิต หรือเป็นศัตรูในชนเหล่านั้นเล่า. เป็นศัตรูสิท่านโคดม.
เมื่อเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรูแล้ว จะชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือสัมมาทิฏฐิ
เล่า. เป็นมิจฉาทิฏฐิสิท่านโคดม.
ดูก่อนโลหิจจะ ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ เรากล่าวว่า มีคติเป็น 2 คือ
นรกหรือกำเนิดเดียรฉาน คติอย่างใดอย่างหนึ่ง.
[358] ดูก่อนโลหิจจะ ด้วยประการฉะนี้ เป็นอันฟังได้ว่า ผู้ใดพึง
กล่าวอย่างนี้ว่า โลหิจจพราหมณ์ ครองบ้านสาลวติกา ควรใช้สอยผลประ-
โยชน์อันเกิดในบ้านสาลวติกาแต่ผู้เดียว ไม่ควรให้ผู้อื่น ผู้ที่กล่าวอย่างนี้นั้น
ชื่อว่าทำอันตรายแก่ชนที่อาศัยเลี้ยงชีพอยู่ เมื่อทำอันตราย ชื่อว่าไม่หวัง
ประโยชน์ เมื่อไม่หวังประโยชน์ ชื่อว่า เข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรู เมื่อเข้าไปตั้งจิต
เป็นศัตรู ย่อมชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างนั้นนั่นแล.
โลหิจจะ ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า สมณะ หรือพราหมณ์ในโลกนี้ ควร
บรรลุกุศลธรรมแต่แล้วไม่ควรบอกผู้อื่น เพราะผู้อื่นต่อผู้อื่นจักทำอะไรกันได้
บุคคลตัดเครื่องจำจองเก่าได้แล้ว ควรสร้างเครื่องจำจองอย่างอื่นขึ้นใหม่ ฉัน-

ใด ข้ออุปไมยก็ฉันนั้น ผู้ที่กล่าวอย่างนั้น ชื่อว่าทำอันตรายแก่กุลบุตรผู้อาศัย
ธรรมวินัย ที่ตถาคตประกาศไว้แล้ว จึงบรรลุธรรมวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้
ย่อมทำให้แจ้งโสดาปัตติผลบ้าง สกทาคามิผลบ้าง อนาคามิผลบ้าง อรหัตตผล
บ้าง และแก่กุลบุตรผู้ที่บ่มครรภ์อันเป็นทิพย์ เพื่อบังเกิดในภพอันเป็นทิพย์
เมื่อทำอันตราย ย่อมชื่อว่าไม่หวังประโยชน์ เมื่อไม่หวังประโยชน์ ย่อมชื่อว่า
เข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรูเมื่อเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรู ย่อมชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ. ดูก่อน
โลหิจจะ ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เรากล่าวว่ามีคติเป็น 2 คือ นรก หรือกำเนิดเดียรัจ
ฉาน คติอย่างใดอย่างหนึ่ง
[359] ดูก่อนโลหิจจะ ด้วยประการฉะนี้ เป็นอันฟังได้ว่า ผู้ใด
พึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงครองแคว้นกาสี และโกศล
พระองค์ทรงใช้สอยผลประโยชน์อันเกิดขึ้นในแคว้นกาสีและโกศล แต่พระ-
องค์เดียว ไม่พระราชทานแก่ผู้อื่น ผู้ที่กล่าวอย่างนี้นั้นชื่อว่า ทำอันตรายแก่
ชนทั้งหลาย คือตัวท่านและคนอื่น เมื่อทำอันตราย ชื่อว่าไม่หวังประโยชน์
เมื่อไม่หวังประโยชน์ ชื่อว่าเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรู เมื่อเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรู
ชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิก็เช่นเดียวกัน. โลหิจจะ ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า สมณะ
หรือพราหมณ์ในโลกนี้พึงบรรลุกุศลธรรม แต่แล้วไม่พึงบอกผู้อื่น เพราะผู้อื่น
ต่อผู้อื่นจักทำอะไรกันได้. บุคคลตัดเครื่องจองจำอันเก่าแล้ว ควรสร้างเครื่อง
จองจำอย่างอื่นใหม่ ข้ออุปไมยนี้ก็ฉันนั้น เรากล่าวธรรม คือความโลภ ว่าเป็น
ธรรมอันลามก เพราะผู้อื่นต่อผู้อื่นจักทำอะไรกันได้ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้นั้น ชื่อ
ว่าทำอันตรายแก่กุลบุตรผู้ที่ได้อาศัยธรรมวินัย ที่ตถาคตประกาศแล้ว จึง
บรรลุธรรมวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ คือทำให้แจ้งโสดาปัตติผลบ้าง สกทาคา-
มิผลบ้าง อนาคามิผลบ้าง อรหัตตผลบ้างและแก่กุลบุตรผู้บ่มครรภ์อันเป็นทิพย์

เพื่อบังเกิดในภพอันเป็นทิพย์ เมื่อทำอันตรายชื่อว่า ไม่หวังประโยชน์
เมื่อไม่หวังประโยชน์ ชื่อว่าตั้งจิตเป็นศัตรู เมื่อตั้งจิตเป็นศัตรู ย่อมชื่อว่าเป็น
มิจฉาทิฏฐิ ดูก่อนโลหิจจะ เรากล่าวว่ามีคติเป็น 2 คือ นรก หรือกำเนิด
เดียรัจฉาน อย่างใดอย่างหนึ่ง
[360] ดูก่อนโลหิจจะ ศาสดา 3 จำพวกนี้ ควรประท้วงได้ในโลก
การประท้วงศาสดาเห็นปานนี้ของเขา เป็นการประท้วงที่เป็นจริงแท้ เป็นธรรม
ไม่มีโทษ ศาสดา 3 จำพวกเป็นไฉน ดูก่อนโลหิจจะ ศาสดาบางคนในโลกนี้
ออกจากเรือนบวช เพื่อประโยชน์อันใด ประโยชน์แห่งความเป็นสมณะนั้น
เขาไม่ได้บรรลุ แต่แล้วก็แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่าน
ทั้งหลาย นี้เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย สาวกของท่านย่อมไม่ตั้งใจฟัง ไม่เงี่ยหู
ฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง และหลีกเลี่ยงประพฤตินอกคำสอนของศาสดา. เขาจะ
พึงถูกประท้วงอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุ ท่านออกจากเรือนบวช เพื่อประโยชน์
อันใด ประโยชน์แห่งความเป็นสมณะนั้น ท่านไม่ได้บรรลุแล้ว แต่แล้วท่านก็
แสดงธรรมแก่สาวกว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย นี้เพื่อความสุขของ
ท่านทั้งหลาย สาวกของท่านย่อมไม่ตั้งใจฟัง ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง
และย่อมหลีกเลี่ยงประพฤตินอกคำสอนของศาสนา เหมือนบุรุษรุกเข้าไป
หาสตรีที่กำลังถอยหลังหนี หรือเหมือนบุรุษที่กอดสตรีที่หันหลังให้ ฉันใด
ข้ออุปไมยนี้ก็ฉันนั้น เรากล่าวธรรมคือ ความโลภว่าเป็นธรรมอันลามก เพราะ
ผู้อื่นต่อผู้อื่นจักทำอะไรกันได้ ดังนี้ ดูก่อนโลหิจจะนี้เป็นศาสดาที่หนึ่งซึ่ง
ควรประท้วงในโลก อนึ่ง การประท้วงของผู้ประท้วงศาสดาเห็นปานนี้
เป็นจริง แท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ.
[361] ดูก่อนโลหิจจะ อีกข้อหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ ออกจาก

เรือนบวช เพื่อประโยชน์อันใด ประโยชน์แห่งความเป็นสมณะนั้น เขาไม่ได้
บรรลุ แต่เขาแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย
นี้เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย สาวกของเขาย่อมตั้งใจฟัง เงี่ยหูฟัง ตั้งจิต
เพื่อรู้ทั่วถึง และไม่หลีกเลี่ยงประพฤตินอกคำสอนของศาสดา เขาจะพึงถูก
ประท้วงว่า ท่านออกจากเรือนบวช เพื่อประโยชน์อันใด ประโยชน์แห่งความ
เป็นสมณะนั้น ท่านไม่ได้บรรลุแล้ว แต่ท่านแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า นี้
เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย นี้เพื่อความสุขของท่านทั้งหลายสาวกของท่าน
นั้นย่อมตั้งใจฟัง ย่อมเงี่ยหูฟัง ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง และไม่หลีกเลี่ยวประพฤตินอก
คำสอนของศาสดา เหมือนบุคคลทิ้งนาของตนแล้ว สำคัญของผู้อื่นว่า เป็นที่
ที่ตนควรทำให้ดี ฉันใด คำอุปไมยนี้ก็ฉันนั้น เรากล่าวธรรมคือความโลภ ว่า
เป็นธรรมอันลามก เพราะผู้อื่นต่อผู้อื่นจักทำอะไรกันได้ ดูก่อนโลหิจจะ นี้แล
ศาสดาคนที่สาม ซึ่งควรประท้วงในโลก อนึ่ง การประท้วงของผู้ประท้วง
ศาสดาเห็นปานนั้น ชื่อว่าเป็นจริง แท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ.
[362] ดูก่อนโลหิจจะ อีกข้อหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ ออกจาก
เรือนบวช เพื่อประโยชน์อันใด เขาบรรลุประโยชน์ของสมณะนั้นแล้ว จึง
แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลาย ของเขาว่า นี้ เพื่อประโยชน์ของท่านทั้ง
หลาย นี้เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย ดังนี้ สาวกของเขาย่อมไม่ตั้งใจฟัง ไม่
เงี่ยหูฟังไม่เข้าไปตั้งจิตเพื่อความรู้ทั่ว หลีกเลี่ยงประพฤตินอกคำสอนของศาสดา
เขาพึงท้วงว่า ท่านผู้มีอายุ ท่านออกจากเรือนบวชเพื่อประโยชน์อันใด ประโยชน์
แห่งความเป็นสมณะนั้น ท่านได้บรรลุแล้ว จึงแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า นี้
เพื่อประโ่ยชน์ของท่านทั้งหลาย นี้เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย ดังนี้ สาวกเหล่า
นั้น ย่อมไม่ตตั้งใจฟัง ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่เข้าใจไปตั้งจิตเพื่อความรู้ทั่ว และหลีกเลี่ยง

ประพฤตินอกคำสอนของศาสดา เหมือนบุคคลตัดเครื่องจองจำเก่าได้แล้ว สร้าง
เครื่องจองจำอย่างอื่นขึ้นใหม่ ฉันใด คำอุปไมยนี้ก็ฉันนั้น เรากล่าวธรรม คือ
ความโลภว่าเป็นธรรมลามก เพราะผู้อื่นต่อผู้อื่นจักทำอะไรกันได้ ดังนี้ ดูก่อน
โลหิจจะ ศาสดาคนที่สาม นี้ควรประท้วงในโลก อนึ่ง ผู้ใดประท้วงศาสดา การ
ประท้วงของผู้ประท้วงเป็นปานนี้ ชื่อว่าเป็นจริง แท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ.
ดูก่อนโลหิจจะ ศาสดาสามจำพวกเหล่านี้แล ควรท้วงได้ในโลก อนึ่ง
การประท้วงของผู้ประท้วงศาสดา เห็นปานนี้ ชื่อว่าเป็นจริงแท้ เป็นธรรม ไม่-
มีโทษ ดังนี้.
[363] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว โลหิจจพราหมณ์ได้
กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ศาสดาบางคนที่ไม่ควรท้วงในโลก มีบ้าง
หรือ
ดูก่อนโลหิจจะ ศาสดาที่ไม่ควรท้วงในโลกมีอยู่. ข้าแต่พระโคดมผู้-
เจริญก็ศาสดาที่ไม่ควรท้วงในโลกเป็นไฉน.
ดูก่อนโลหิจจะ พระตถาคตเสด็จอุบัติขึ้นในโลกนี้เป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ฯลฯ (พึงขยายความให้พิสดารเหมือนในสามัญญ-
ผลสูตร) ฯลฯ ดูก่อนโลหิจจะ ภิกษุเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอาการอย่างนี้ ฯลฯ
เข้าถึงปฐมฌานอยู่.
ดูก่อนโลหิจจะ สาวกได้บรรลุคุณวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ ในศาสดา
ใด ศาสดานี้แลไม่ควรประท้วงในโลก อนึ่ง การประท้วงของผู้ประท้วงศาสดา
เห็นปานนี้ชื่อว่า ไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นธรรม มีโทษ ฯลฯ เข้าถึงฌานที่ 2 ที่ 3
ที่ 4 อยู่. ดูก่อนโลหิจจะ สาวกได้บรรลุคุณวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ในศาสดา
ใด ศาสดาแม้นี้แลไม่ควรประท้วงในโลก อนึ่งการประท้วงของผู้ประท้วงศาสดา

เห็นปานนี้ ชื่อว่า ไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นธรรม มีโทษ ฯลฯ เธอย่อมน้อม
โน้มจิตใจไปเพื่อญาณทัสสนะ. สาวกในศาสดาใดฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่า ฯลฯ
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี. สาวกในศาสดาใด...ไม่เป็นธรรมมีโทษ.
[364] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว โลหิจจพราหมณ์
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บุรุษผู้หนึ่งพึง
ฉวยผมบุรุษอีกผู้หนึ่ง ซึ่งกำลังจะตกไปสู่เหว คือนรกไว้ ฉุดขึ้นให้ยืนอยู่บนบก
ฉันใด ข้าพระองค์กำลังจะตกไปสู่เหว คือนรก พระโคดมผู้เจริญได้ยกขึ้นให้
ยืนอยู่บนบก ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์
ไพเราะยิ่งนัก จับใจยิ่งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า คนมีจักษุจักเห็น
รูปดังนี้ ฉันใด พระโคดมผู้เจริญก็ทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉัน
นั้นเหมือนกัน
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงพระโคดมผู้เจริญพร้อมทั้ง
พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดจงทรงจำข้า-
พระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะอย่างมอบกายถวายชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้น
ไปเถิด.
จบโลหิจจสูตรที่ 12

อรรถกถาโลหิจจสูตร


โลหิจจสูตร

มีบทเริ่มต้นว่า (ข้าพเจ้าพระอานนทเถระเจ้า) ได้
สดับมาแล้วอย่างนี้...............ในแคว้นโกศล
ต่อไปนี้เป็นการอธิบายบทที่ยากในโลหิจจสูตรนั้น บทว่า สาลวติกา
เป็นชื่อของบ้านนั้น. ได้ยินมาว่าบ้านนั้นล้อมด้วยไม้สาละ เป็นแถวไปตาม
ลำดับเหมือนล้อมรั้ว เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า บ้านสาลาติกา. บทว่า. โลหิจจะ
เป็นชื่อพราหมณ์ผู้นั้น.
บทว่า ลามก คือ ชื่อว่าลามก เพราะเว้นจากการอนุเคราะห์ผู้อื่น.
แต่ไม่ใช่อุจเฉททิฏฐิ และสัสสตทิฏฐิ อย่างใดอย่างหนึ่ง. บทว่า เกิดขึ้นแล้ว
คือบังเกิดแล้ว ได้แก่ ไม่ใช่เพียงเกิดในใจอย่างเดียวเท่านั้น. นัยว่า โลหิจจ-
พราหมณ์นั้นยังพูดอย่างนั้น แม้ในท่ามกลางบริษัท ตามอำนาจของใจ.
บททั้งหลายว่า เพราะผู้อื่นจักทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้ ดังนี้ อธิบายว่า
คนอื่นจะพูดว่า ผู้ที่ถูกเขาพร่ำสอนจักทำอะไร แก่ผู้พร่ำสอนนั้นได้ ตนเอง
นั่นแหละควรสักการะเคารพกุศลธรรมที่ตนได้แล้วอยู่. ข้อว่า โลหิจจพราหมณ์
เรียกช่างกัลบกชื่อโรสิกามา
มีความว่า โลหิจจพราหมณ์เรียกช่างกัลบกผู้ได้
ชื่อเป็นอิตถีลิงค์อย่างนี้ว่าโรสิกา นัยว่าเขาทราบถึงการเสด็จมาของพระผู้มีพระ-
ภาคเจ้าแล้วคิดว่า การที่เราจะไปเฝ้าพระพุทธองค์ที่ประทับจะเป็นภาระ
แต่เราจะอาราธนาให้เสด็จมายังเรือน แล้วเข้าเฝ้า และจักถวายอาคันตุกภิกษา
ตามกำลัง เพราะฉะนั้น โลหิจจพราหมณ์จึงเรียก โรสิกาช่างกัลบกนั้นมา.
บทว่า ตามเสด็จไปข้างหลัง ๆ หมายความว่า โรสิกาช่างกัลบกตาม
เสด็จไปข้างหลัง ๆ เพื่อสะดวกในการทูลสนทนา. บทว่า ขอจงทรง-